โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติ ๔๘ พรรษา เดิมชื่อ “โรงเรียนร่วมน้ำใจ” เป็นโรงเรียนประจำหญิงล้วน ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๕ โดยมูลนิธิร่วมน้ำใจต้านภัยเอดส์ มีนางสายสม วงศาสุลักษณ์ประธานมูลนิธิร่วมน้ำใจต้านภัยเอดส์ร่วมกับกรรมการผู้ก่อตั้งมูลนิธิฯท่านอื่น ๆ คือ ดร.สุณี ศรีอรทัยกุล,
นางนฤมล ศิริวัฒน์, นางศรีวรรณา วิริยะพันธ์, นางกฤษณา นิชิด้า, นางเสงี่ยม ละอองสุวรรณ, นางรมิดา รัสเซลล์, นางสายพิณ พหลโยธินและนางหทัยรัตน์ จุฬางกูร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนด้านการศึกษาแก่เด็กหญิงผู้ยากไร้ในถิ่นทุรกันดาร เพื่อป้องกันการเป็นโสเภณีในเด็ก สร้างโรงเรียนเพื่อลูกกำพร้าเอดส์และเยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ส่งเสริมสร้างงานอาชีพให้แก่ผู้ติดเชื้อให้มีรายได้เลี้ยงตัวเองรณรงค์ให้ความรู้และวิธีป้องกันแก่ผู้ติดเชื้อเอดส์ (HIV) ดำเนินเพื่อสาธารณประโยชน์และร่วมมือกับองค์กรการกุศลอื่น ๆ

โรงเรียนร่วมน้ำใจ ได้รับการบริจาคที่ดินจาก นางสายพิณ พหลโยธิน เหรัญญิกของมูลนิธิฯ จำนวน ๗ ไร่ ๑๕๔ ตารางวา และคณะกรรมการทุกคนร่วมใจกันจัดหาทุนบริจาคในการถมดิน ก่อสร้างอาคารเรียน ๑ หลัง ขนาด ๓ ชั้น ๑๕ ห้องเรียน ชื่ออาคารว่า รวม..ร่วมน้ำใจ อาคารเรือนนอน Spansion จำนวน ๑ หลัง อาคารเรือนรับรองสำหรับครูและอาสาสมัคร ๑ หลัง และจัดหาอุปกรณ์สำหรับใช้ในการเรียนการสอน เช่น คอมพิวเตอร์ โสตทัศนูปกรณ์ เครื่องทำน้ำเย็นสำหรับใช้ดื่มรวมทั้งอุปกรณ์เสริมหลักสูตรอื่น ๆ จัดการศึกษาแบบให้เปล่า ไม่เก็บค่าเล่าเรียน ค่าที่พัก ค่าอาหารและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ซึ่งได้รับอนุญาตให้เปิดทำการเรียนการสอนได้ตามระเบียบและข้อบังคับจากกระทรวงศึกษาธิการให้เป็นโรงเรียนสามัญ ประเภท ๑๕ (๓) ตั้งแต่วันที่ ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๕ เป็นต้นมา โดยมีนางสายสม วงศาสุลักษณ์ ประธานมูลนิธิฯเป็นผู้รับใบอนุญาต

ปีการศึกษา ๒๕๔๖ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โปรดเกล้าฯพระราชทานนามให้โรงเรียนใหม่เป็น “โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติ ๔๘ พรรษา” ในวโรกาสทรงมีพระชนมายุครบ ๔๘ พรรษา โดยเสด็จพระราชดำเนินเปิดอาคารเรียน เมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๔๗

ปีการศึกษา ๒๕๕๐ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โปรดเกล้าฯ พระราชทานนาม “หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ ๕๐ พรรษา” ในวโรกาสทรงมีพระชนมายุครบ ๕๐ พรรษา โดยเสด็จพระราชดำเนินเปิดอาคารหอประชุม เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๐ สำหรับหอประชุมนี้สร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ใช้สอยในกิจกรรมของโรงเรียน 

ปีการศึกษา ๒๕๕๑ โรงเรียนฯ ได้น้อมนำโครงการพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จัดฝึกอบรมวิชาชีพเสริมควบคู่กับการเรียนการสอนตามความสนใจและความถนัดของนักเรียน เพื่อให้นักเรียนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันหรือนำไปใช้ประกอบวิชาชีพในอนาคต จึงได้ประสานขอความร่วมมือจากวิทยาลัยเทคนิคลำพูน จัดทำหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้นตามแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารระยะที่ ๓ มาทำการปรับปรุงเพื่อให้มีความสอดคล้องกับสภาพของโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติ ๔๘ พรรษา อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อนักเรียนตามวัตถุประสงค์ต่อไป

ในเวลาต่อมาโรงเรียนได้รับเงินบริจาคดำเนินการสร้างอาคารหอสมุดขึ้น ๑ หลัง ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีพระราชทานนามว่า “หอสมุดดรุณปัญญา” โดยเสด็จพระราชดำเนินเปิดอาคารหอสมุดเมื่อวันอังคารที่ ๒๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๒

ปีการศึกษา ๒๕๕๒ โรงเรียนฯ ได้ดำเนินการสร้างอาคารหอศิลป์ โดยมีเนื้อที่กว้าง ๑๕ เมตร ยาว ๒๐ เมตร สูง ๑๖ เมตร เป็นอาคาร ๓ ชั้น รวมเนื้อที่ ๓๐๐ ตารางเมตร เริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๒ และโรงเรียนฯ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ ในการสร้างผนังกั้นน้ำบริเวณด้านหลังโรงเรียนฯ ที่ติดกับแม่น้ำกวงเพื่อป้องกันน้ำกัดเซาะตลิ่งตามโครงการพระราชดำริ นอกจากนี้แล้วโรงเรียนฯ ยังได้ดำเนินการกิจกรรมเศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียน แบบครบวงจรหลายรูปแบบ อาทิเช่น การทำเกษตรผสมผสาน การเลี้ยงหมูหลุม การเลี้ยงไก่พื้นเมือง ไก่ไข่
การเลี้ยงปลาดุกในบ่อซีเมนต์ การเพาะเห็ดนางฟ้าในโรงเรือน การคัดแยกขยะ การทำนาปลอดสารพิษ
การปลูกสวนสมุนไพร การปลูกพืชผักสวนครัวรั้วกินได้ เป็นต้น เพื่อเป็นจุดถ่ายทอด พบปะ แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์จากปราชญ์ชาวบ้าน หมอดิน และองค์ความรู้ต่าง ๆ ให้กับผู้ที่มาศึกษาดูงานอีกด้วย

ปีการศึกษา ๒๕๕๓ โรงเรียนได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารหอศิลป์ซึ่งทรงพระราชทานนามว่า “หอศิลป์ดรุณนิรมิต” และผนังกั้นน้ำบริเวณด้านหลังโรงเรียน ในวันศุกร์ ที่ ๑๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๓ และในปีเดียวกัน โรงเรียนได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารเรือนรับรอง “สโมสรซอนต้าสากลกรุงเทพฯ ๖” อีกทั้งยังดำเนินการก่อสร้างเรือนพยาบาล “สมเด็จพระเจ้าพรหมมหาราช” อีก ๑ หลัง ซึ่งเป็นอาคาร ๒ ชั้นสำหรับให้การ ปฐมพยาบาลแก่ครูนักเรียนที่มีอาการเจ็บป่วย รวม ๑๓ เตียงนอน

ปีการศึกษา ๒๕๕๔ โรงเรียนได้ดำเนินการก่อสร้างห้องออกกำลังกาย บริเวณใต้ถุนด้านล่างอาคารหอประชุมเฉลิมพระเกียรติ ๕๐ พรรษา ภายในห้องมีอุปกรณ์ออกกำลังกายสำหรับนักเรียน ในปีนี้ โรงเรียนฯ ได้เล็งเห็นว่านักเรียนที่จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ ๖ ที่มีฐานะยากจนไม่ได้ศึกษาต่อ หรือจบมาแล้วไม่มีงานทำ จึงได้ดำเนินการก่อสร้างศูนย์ฝึกอาชีพลักษณะเป็นอาคารห้องโถงกว้าง มีพื้นที่ทำงาน ห้องอบเซรามิค ห้องทอผ้า ห้องพัก ห้องนอน และห้องน้ำ อีกทั้งยังได้รับความอนุเคราะห์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ศูนย์บ้านไร่) ร่วมกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ ในการสร้างโรงปลูกผักไฮโดรโปรนิกส์ การส่งวิทยากรมาสอนการปลูกผักไฮโดรโปรนิกส์ ทั้งนี้ โรงเรียนฯ ยังได้รับการอนุเคราะห์กล้าพันธุ์ข้าวหอมปทุมและข้าวเหนียว กข ๖ รวมไปถึงความช่วยเหลือตั้งแต่ขั้นตอนการหว่านข้าว จนถึงขั้นตอนการเก็บเกี่ยว การช่วยปรับปรุงสภาพดินในแปลงนาและสนับสนุนสารเร่งการทำปุ๋ยหมักและน้ำหมัก อนุเคราะห์กากน้ำดาล กล้าพันธุ์สมุนไพร ผักสวนครัวอื่น ๆ ตลอดจนให้คำปรึกษาในด้านการเกษตรให้กับคณะครูและนักเรียน

ปีการศึกษา ๒๕๕๕ โรงเรียนได้ดำเนินการสร้างศูนย์ฝึกอาชีพ เพื่อใช้เป็นสถานที่
ผลิตสินค้า OTOP จากฝีมือของนักเรียนและรองรับนักเรียนที่ไม่ประสงค์จะศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาให้มีอาชีพและได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า
กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานนามว่า“อาคารศิลป์สิริ”นอกจากนี้ โรงเรียนได้รับงบสนับสนุนจากกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินการสร้างระบบน้ำดื่มโรงเรียน ประกอบด้วย ๒ ส่วนคือ

  1. ระบบประปาบาดาล
  2. ระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำให้ได้มาตรฐานน้ำดื่ม

ซึ่งระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำให้ได้มาตรฐานน้ำดื่มด้วยระบบ Reverse Osmosis (RO) ภายใต้โครงการ สำรวจและศึกษารูปแบบการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลและระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำบาดาลให้กับโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติ ๔๘ พรรษา งบกองทุนพัฒนาน้ำบาดาล ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๕๔ – ๒๕๕๗

ในปีเดียวกัน โรงเรียนได้รับงบสนับสนุนจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ดำเนินการก่อสร้างห้องศูนย์การท่องเที่ยวจังหวัดลำพูน ลำพูนปฐมอารยธรรมแห่งล้านนา ณ ชั้น ๒ อาคารหอศิลป์ดรุณนิรมิตประกอบไปด้วยห้องประชุม-บรรยายและห้องนำเสนอเกี่ยวกับจังหวัดลำพูน ๔ ยุค คือ

ลำพูนยุคที่ ๑ คือ ยุคก่อนประวัติศาสตร์

ลำพูนยุคที่ ๒ คือ ยุคหริภุญไชย

ลำพูนยุคที่ ๓ คือ ยุคล้านนาและยุคภายใต้การปกครองของพม่า

ลำพูนยุคที่ ๔ คือ ยุครัตนโกสินทร์ และเข้าสู่ยุคปัจจุบัน

ทั้งนี้โรงเรียนฯ ยังได้ดำเนินการก่อสร้าง อาคารเรือนไทยหลังเดียว สำหรับพักผ่อนหย่อนใจและใช้เป็นศูนย์การเรียนรู้ภายในโรงเรียนให้กับนักเรียนอีกด้วย

ปีการศึกษา ๒๕๕๖ สำนักงานอาสากาชาดและคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เข้ามาดำเนินการพัฒนาองค์ความรู้เพิ่มเติม โดยการจัดทำระบบการเรียนการสอนออนไลน์หรือ School Online และการบูรณาการวิชาการกับสิ่งแวดล้อมหรือ Seed (Science Environment Discovery) ซึ่งจะนำมาพัฒนาองค์ความรู้แบบ Seed in School เป็นการนำหลักการวิทยาศาสตร์กับเรื่องสิ่งแวดล้อมมาบูรณาการเข้าด้วยกัน มีการจัดทำพิพิธภัณฑ์มีชีวิตได้ทั้งเรียนรู้และเที่ยวชม โดยแนวทางการพัฒนาเกิดจากการรวบรวมระดมความคิดร่วมกันระหว่างครูและนักเรียนว่าจะกำหนดสถานที่แห่งใดให้เป็นเส้นทางการเรียนรู้ตั้งแต่ต้นจนจบ เช่น โรงเรียนมีแหล่งเรียนรู้ด้านปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเริ่มจากการปลูกข้าว แปลงนาจะเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านระบบนิเวศน์ การหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าว การดำนา การเก็บเกี่ยว การเลี้ยงหมูหลุมเรียนรู้การผลิตบ่อก๊าซชีวภาพจากมูลของหมู การทำโรงเพาะเห็ด ได้เรียนรู้การเก็บผลผลิต การปลูกพืชไร้ดินแปลงปลูกพืชด้วยจักรยานทดน้ำ โรงแยกขยะเพื่อผลิตน้ำหมักชีวภาพและเชื้อเพลิงจากเศษอาหาร เป็นต้น

ต่อมาในวันจันทร์ ที่ ๒๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๗ โรงเรียนฯ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเปิด “อาคารศิลป์สิริ” และโอกาสนี้ทอดพระเนตรผลงานของนักเรียน ศูนย์การท่องเที่ยวจังหวัดลำพูน (ศูนย์เรียนรู้ประวัติศาสตร์เมืองลำพูน) ณ อาคารหอศิลป์ดรุณนิรมิต และทรงโยนกล้าพันธุ์ข้าวเหนียวสันป่าตอง ๑ ในแปลงนาของโรงเรียนฯ อีกด้วย

ปีการศึกษา ๒๕๕๗ โรงเรียนได้มีโครงการปรับปรุงระบบผลิตน้ำประปาบาดาล เพื่อการอุปโภคภายในโรงเรียน โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกงสุลญี่ปุ่น ณ นครเชียงใหม่ นอกจากนี้ยังมีการดำเนินการก่อสร้างโรงยิมเนเซียม ด้านหลังอาคารศิลป์สิริ เพื่อให้นักเรียนสามารถใช้เป็นสถานที่สำหรับการเรียนการสอนในรายวิชาพลศึกษา การฝึกทักษะทางด้านกีฬาให้กับนักเรียน และนักเรียนสามารถใช้เป็นสถานที่สำหรับออกกำลังกายในเวลาว่าง

ปีการศึกษา ๒๕๕๘ โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติ ๔๘ พรรษา ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานนามอาคารโรงยิมเนเซียม ว่า“อาคารเฉลิมพระเกียรติ” พร้อมกันนี้ ยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ เสด็จทรงเปิด“อาคารเฉลิมพระเกียรติ” ในวันพฤหัสบดี ที่ ๓ เดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๙  เป็นอาคารที่ใช้เพื่อเป็นสถานที่สำหรับเล่นกีฬา ออกกำลังกายและปฏิบัติการเรียนการสอนในวิชาพลศึกษาให้กับนักเรียนทุกระดับชั้น อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้นักเรียนและบุคลากรได้ออกกำลังกาย ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์และที่สำคัญที่สุดเพื่อพัฒนาทักษะทางด้านกีฬาของนักเรียนให้สู่ความเป็นเลิศ 

ในวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๙ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงรับ โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติ  ๔๘  พรรษา อยู่ในพระราชูปถัมภ์ โดยใช้คำว่า “ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” ต่อท้ายชื่อโรงเรียน 

ในปีการศึกษา  ๒๕๕๙   โรงเรียนได้รับเงินงบประมาณประจำปี ๒๕๖๐ จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนเป็นเงินอุดหนุนค่าก่อสร้างอาคารเรือนนอน ค.ส.ล. ๓ ชั้น(จำนวน ๕ ล้านกว่าบาทและโรงเรียนจัดหางบประมาณเพิ่มอีก ๓ ล้านกว่าบาท ตามนโยบายที่กระทรวงช่วยสนับสนุน ในอัตราร้อยละ ๗๐ : ๓๐) เพื่อรองนักเรียนที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปีและเพื่อให้นักเรียนมีสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โรงเรียนได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วโดยมีกำหนดการก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๖๐ โดยได้รับพระราชทานนามจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ว่า “อาคารสุขเกษม”

วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ร่วมกับสำนักงานอาสากาชาด สภากาชาดไทย โดย ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์ดำรง เหรียญประยูร ผู้อำนวยการสำนักงานอาสากาชาด สภากาชาดไทย ได้เข้ามาจัดทำโครงการ “เกษตรกรทันสมัยเศรษฐกิจพอเพียงเกษตรอินทรีย์” เป็นโครงการที่ให้ความรู้กับนักเรียนเรื่อง การทำ EM ขยาย น้ำยาอเนกประสงค์  ปุ๋ยแห้ง  ฮอร์โมนผลไม้  และสารไล่แมลง เมื่อนักเรียนมีความรู้ภาคทฤษฎี ต่อไปก็จะลงมือปฏิบัติ เมื่อนักเรียนทำเป็นก็จะนำผลิตภัณฑ์เหล่านี้มาใช้ภายในโรงเรียน เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี กลายเป็น “โรงเรียนสีเขียว” ตามวัตถุประสงค์ของโครงการ

ในปีการศึกษา  ๒๕๖๐   สืบเนื่องจากการจัดทำโครงการ “เกษตรกรทันสมัยเศรษฐกิจพอเพียงเกษตรอินทรีย์” ของวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ร่วมกับสำนักงานอาสากาชาด สภากาชาดไทย โดย ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์ดำรง เหรียญประยูร ผู้อำนวยการสำนักงานอาสากาชาด สภากาชาดไทย เมื่อปีการศึกษาที่ผ่านมา ทางโรงเรียนได้รับเงินงบประมาณสนับสนุนจาก ดร. ประศาสน์ และอาจารย์เฉิดโฉม จันทราทิพย์ ในการก่อสร้างอาคาร Smart Farmer Bank  โดยได้รับพระราชทานนามจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ว่า “อาคารเกษตรเมธี” เพื่อใช้เป็นแหล่งการเรียนรู้ แนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ สำหรับเด็ก เยาวชน และผู้ที่สนใจ โดยจะมีหลายส่วนด้วยกัน ได้แก่ นิทรรศการ การสาธิตฐานการเรียนรู้กลุ่มเศรษฐกิจพอเพียงของโรงเรียน นอกจากการให้ความรู้แล้ว ยังให้บริการในการใช้สถานที่ในการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการเศรษฐกิจพอเพียง

ในปีการศึกษา  ๒๕๖๑  สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระมหากรุณาเสด็จมาเปิดอาคารเรือนนอนสุขเขษม และอาคารเกษตรเมธี ในวันที่ ๒๔ เดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๖๒ “อาคารเรือนนอนสุขเขษม” ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง ๗,๗๑๓,๐๐๐ บาท ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน จำนวน ๕,๓๙๙,๑๐๐ บาท และจากผู้มีจิตเมตตา จำนวน ๒,๓๑๓,๙๐๐ บาท เป็นอาคารคอนกรีต ๓ ชั้น 

       ชั้นที่ ๑ ใต้ถุนเปิดโล่ง

ชั้นที่ ๒ และชั้นที่ ๓ แบ่งเป็นชั้นละ ๒ ฝั่ง ซ้าย -ขวา โดยมีห้องพักครูอยู่ตรงกลาง

–  เตียงนอนฝั่งละ ๒๕  เตียง รวม ๑๐๐ เตียง

–  ห้องน้ำฝั่งละ ๗ ห้อง รวม ๒๘ ห้อง

–  ห้องอาบน้ำฝั่งละ ๗ ห้อง รวม ๒๘ ห้อง

–  ตู้ล็อกเกอร์ฝั่งละ ๑๕ ตู้ รวม ๖๐ ตู้

“อาคารเกษตรเมธี” เป็นอาคารที่ใช้ดำเนินโครงการ “เกษตรกรทันสมัยเศรษฐกิจพอเพียงเกษตรอินทรีย์” ของสำนักงานอาสากาชาด สภากาชาดไทย โดย ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์ดำรง เหรียญประยูร ผู้อำนวยการสำนักงานอาสากาชาด สภากาชาดไทย ได้รับงบประมาณสนับสนุนในการก่อสร้างอาคาร เป็นจำนวนเงิน ๓,๓๐๐,๐๐๐ บาท จาก ดร. ประศาสน์ และอาจารย์เฉิดโฉม จันทราทิพย์ ใช้เป็นแหล่งการเรียนรู้ ให้กับเด็ก เยาวชน และผู้ที่สนใจ โดยจัดให้มีนิทรรศการด้านการเกษตรอินทรีย์ การสาธิตฐานการเรียนรู้กลุ่มเศรษฐกิจพอพียงของโรงเรียน นอกจากนี้ยังให้บริการในการใช้สถานที่ในการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการด้านการเกษตรอินทรีย์

ในปีการศึกษา  ๒๕๖๒  เนื่องจากในปีการศึกษานี้ มีจำนวนนักเรียนที่เพิ่มมากขึ้น อาคารเรียนที่มีอยู่เดิม ๒ อาคาร ไม่เพียงพอต่อการรองรับนักเรียนที่เพิ่มมากขึ้นและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นในปีการศึกษาต่อไป ทางโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติ ๔๘ พรรษา ในพระราชูปถัมภ์ฯ จึงได้ก่อสร้างอาคารเรียนหลังใหม่ เป็นอาคารคอนกรีต ๓ ชั้น 

ชั้นที่ ๑  –  ห้องปฏิบัติการ จำนวน     ๒     ห้อง

ชั้นที่ ๒  –  ห้องปฏิบัติการ จำนวน     ๑     ห้อง

–  ห้องเรียน จำนวน     ๔     ห้อง

                 –  ห้องพักครู จำนวน     ๑     ห้อง

ชั้นที่ ๓   –  ห้องเรียน จำนวน     ๕     ห้อง

–  ห้องพักครู จำนวน     ๑     ห้อง 

งบประมาณที่ใช้ในการก่อสร้างอาคารเรียนหลังใหม่ เป็นเงิน ๘,๐๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งยังไม่รวมกับงบประมาณในการจัดหาครุภัณฑ์และอุปกรณ์การเรียนต่าง ๆ ภายในตัวอาคาร ทางโรงเรียนจึงได้จัดทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อจัดหางบประมาณมาสนับสนุนในการก่อสร้าง อาทิ งานเทศน์มหาชาติเฉลิมพระเกียรติ รวม…ดวงใจถวายเป็นพระราชกุศลแด่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ เนื่องในวันพ่อแห่งชาติ ในวันอังคารที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๖๒ และงาน NIGHT RUN MINI MARATHON 2020 ในวันเสาร์ที่ ๒๒  กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนทั่วไป รวมทั้งได้รับเงินบริจาคจากผู้ใจบุญมาช่วยสนับสนุนในการก่อสร้างอาคารเรียนหลังนี้

ในปีการศึกษา  ๒๕๖๓  ได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารเรียน  เพื่อรองรับจำนวนนักเรียนที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น เป็นอาคารคอนกรีต ๓ ชั้น 

ชั้นที่ ๑   ห้องปฏิบัติการ จำนวน  ๒  ห้อง

ชั้นที่ ๒   ห้องปฏิบัติการ จำนวน  ๑  ห้อง

    ห้องเรียน จำนวน  ๔  ห้อง

                      ห้องพักครู         จำนวน  ๑  ห้อง

ชั้นที่ ๓   ห้องเรียน จำนวน  ๕  ห้อง

  ห้องพักครู           จำนวน  ๑  ห้อง 

งบประมาณในการก่อสร้างอาคารเรียนในครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนบริจาคจากผู้ใจบุญ รวมเป็นเงินจำนวน ๘,๐๐๐,๐๐๐.๐๐ บาท และอาคารดังกล่าวได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐา-
ธิราชเจ้า  กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานชื่ออาคารเรียนว่า
“พัฒนเมธา” พร้อมใช้งานได้ในปีการศึกษา ๒๕๖๔

ในการนี้ทางโรงเรียนได้ขอรับงบประมาณ ในการปรับปรุงอาคารเรือนนอน Spansion ๒ ชั้น
๕ ห้อง ซึ่งเป็นอาคารเรือนนอนของนักเรียนหลังแรกที่มีสภาพทรุดโทรมตามกาลเวลา เป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น ๑,๗๘๐,๖๐๐.๐๐ บาท  ทั้งนี้ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน  สำนักปลัดกระทรวงกระทรวงศึกษาธิการ เป็นเงินจำนวน ๑,๔๒๔,๔๐๐.๐๐ บาท  โรงเรียนสมทบ จำนวน ๓๕๖,๒๐๐.๐๐  บาท ซึ่งงบประมาณจากโรงเรียนได้จากการขอรับบริจาคจากผู้ใจบุญทั้งสิ้น  ซึ่งจะแล้วเสร็จและใช้งานได้ในปีการศึกษา ๒๕๖๔ 

ในปีการศึกษา ๒๕๖๔  ทางโรงเรียนได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในการจัดตั้ง “โรงอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบเรือนกระจก” ขนาด ๖ ๑๒ เมตร เพื่อใช้ในการแปรรูปวัตถุดิบทางการเกษตร อาทิ ผักเชียงดา ดอกอัญชัน เห็ดนางฟ้า และการแปรรูปอาหาร เป็นต้น และขยายผลทางการเกษตรอื่น ๆ ต่อไป 

ศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ ๔ กอ.รมน. (ศปป. ๔ กอ.รมน.) ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ได้จัดทำโครงการ “กรจัดการความรู้ การขยายผลเทคโนโลยี ถังหมักขยะอินทรีย์เพื่อการจัดการขยะในชุมชน” มีการติดตั้งถังหมักขยะอินทรีย์ ตามโครงการ Cash Return from Zero and Segregation of Waste (C-ROS) โดยสถาบันวิทยสิริเมธี

ประโยชน์ที่ได้รับ

  1. ทำให้ลดปริมาณเศษอาหารที่เหลือจากโรงอาหารได้
  2. ได้แก๊สชีวภาพ ประกอบด้วยแก๊สมีเทน ซึ่งมีคุณสมบัติจุดไฟได้ดี สามารถนำไปใช้ในการประกอบอาหารได้
  3. ได้ปุ๋ยชีวภาพ ที่อุดมไปด้วยธาตุอาหารหลัก ธาตุอาหารรองและฮอร์โมนที่พืชต้องการอย่างครบถ้วน ทำให้พืชแข็งแรงสมบูรณ์ ช่วยในการเร่งการเจริญเติบโตของการออกดอกและใบให้เร็วขึ้น

“โรงอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบเรือนกระจก”

การติดตั้งถังหมักขยะอินทรีย์”